‘เทคโนโลยีการผลิต’ ถ้าไม่ลงทุนอาจต้องลงหลุม

การแข่งขันของอุตสาหกรรมสมัยใหม่มีเทคโนโลยีที่ใช้เป็นตัวติดสิน เนื่องจากภาวะการผันผวนของ Demand ในตลาดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ร่วมกับการขาดแคลนแรงงานที่เหมาะสมสำหรับการปฏิบัติงาน

ตัวอย่างสำหรับกรณีดังกล่าว เช่น ประเทศจีนซึ่งมีการเติบโตที่รวดเร็วในระยะเวลาอันสั้นทั้งยังเป็นสัดส่วน GDP จำนวนมากได้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตโนมัติแทนแรงงานมนุษย์ ทำให้เห็นถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่นอกจากจะเน้นในเรื่องปริมาณการผลิต ศักยภาพการผลิตยังเป็นเรื่องสำคัญที่จะตอบสนองความพึงพอใจของคู่ค้าหรือผู้ใช้งาน เทคโนโลยีสำหรับการผลิตอย่างเช่น Automation ที่มีความแม่นยำสูงและ Productivity ที่ไว้ใจได้จึงเป็นสิ่งจำเป็น หากคุณภาพของสินค้าไม่ถึง ศักยภาพการผลิตไม่สามารถสู้กับผู้ผลิตเจ้าอื่นในตลาดได้ ธุรกิจอุตสาหกรรมของคุณอาจถึงเวลาต้องถอยลงหลุมและปิดตัวไปอย่างเงียบๆ ท่ามกลางกระแสการลงทุนเทคโนโลยีที่โหมกระหน่ำในปัจจุบัน

 

“หากคุณมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ สิ่งที่ก่อให้เกิดการเติบโตและความมั่งคั่ง คือ นวัตกรรมและการลงทุน ซึ่งจะช่วยเพิ่มสัดส่วนลูกค้าให้มีมากขึ้น”

Frederick W. Smith

 

ทำไมต้อง Automation?

ด้วย 3 คุณสมบัติที่ทำให้การใช้เครื่องจักรมีประสิทธิภาพมากกว่าคน ได้แก่ ขนาดและปริมาณของงาน ความเร็วในการผลิต และความซับซ้อนของชิ้นส่วนที่ผลิต ซึ่งเครื่องจักรสามารถตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถวางใจในการปฏิบัติงานได้รวมถึงความแม่นยำในการปฏิบัติงาน

เทคโนโลยี Automation เป็นการควบคุมเครื่องจักรและการทำงานที่เกยี่วข้องผ่านระบบอัตโนมัติ ทำให้สามารถคาดการณ์และวางแผนการซ่อมบำรุงซึ่งสามารถลดเวลา Downtime ทั้งยังสามารถเจาะลึกถึงการทำงานได้อย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงาน การแสดงค่าต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการทำงานแบบ Real-Time สำหรับการดำเนินการในระยะยาวสามารถลดค่าใช้จ่ายและคืนทุนได้อย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับแรงงานมนุษย์ การลงทุนในเทคโนโลยี นวัตกรรม ซึ่งสามารถลดอุบัติเหตุ การสูญเปล่าในกระบวนการผลิต และควบคุมปัจจัยในการผลิตได้มากขึ้น ก่อให้เกิดสายการผลิตที่สามารถเชื่อถือได้ สามารถแก้ไขและจัดการได้อย่างเหมาะสมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที

การเลือกลงทุนเครื่องจักรในยุคปัจจุบันนั้นจำเป็นจะต้องคิดเผื่อสำหรับการลงทุนใช้งานร่วมกับ Automation เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ ซึ่งหลายประเทศเริ่มมีการใช้ระบบ Automation อย่างแพร่หลายเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติด้วยเทคโนโลยีที่มี อาทิ เกาหลีใต้และประเทศจีน

 

จุดเด่นและข้อควรระวังของแรงงานมนุษย์ในยุคหุ่นยนต์

จุดเด่นของแรงงานที่มีข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับระบบอัตโนมัติ คือ ความสามารถในการยืดหยุ่นสำหรับการปฏิบัติงาน ความสามารถในการตัดสินใจ การปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ และประสบการณ์ ซึ่งในกรณีนี้หากเป็น AI หรือปัญญาประดิษฐ์อาจพัฒนาไล่ตามความสามารถในการตัดสินใจเหล่านี้ได้

สำหรับความเสี่ยงที่พบจากแรงงานที่สามารถพบเจอได้ทั่วไป เช่น ความผิดพลาดในการทำงาน ปัญหาทางด้านสุขภาพ จิตใจ และอารมณ์ ทำให้การเลือกลงทุนในเทคโนโลยีที่มีความเสี่ยงหรือส่งผลกระทบต่อสภาวะร่างกายและจิตใจของมนุษย์ เช่น สายการผลิตที่มีการทำซ้ำอย่างต่อเนื่องและใช้เวลายาวนานสามารถสร้างผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าได้ แม้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการแข่งขันในกิจการอุตสาหกรรมยุคใหม่ ในขณะที่บทบาทแรงงานมนุษย์ยังคงมีส่วนสำคัญโดยเปลี่ยนจากการทำงานที่มีความเสี่ยงสู่การวางแผนและควบคุมเทคโนโลยีในการทำงาน รวมถึงการทำงานในรูปแบบของการซ่อมบำรุงยังคงต้องพึ่งพามนุษย์เป็นหลัก

 

วิศวกรเฉพาะทางและฝ่ายซ่อมบำรุง กำลังหลักอุตสาหกรรมยุคใหม่

ด้วยเทคโนโลยีที่มีความหลากหลายมากขึ้นทำให้ความรู้เฉพาะทางมีความจำป็นมากขึ้น เช่น ระบบเครือข่าย ระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อรองรับการทำงานกับ Smart Factory หรือ Automation ทำให้ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้ความเข้าใจในการทำงานกับเทคโนโลยีดังกล่าว นอกจากนี้ในส่วนของการซ่อมบำรุงซึ่งแรงงานมนุษย์ยังเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้กลายเป็นพื้นที่ซึ่งขาดแคลนอย่างมาก ภายใต้นวัตกรรมที่ก้าวหน้าระบบและเครื่องมือที่มีความซับซ้อนยิ่งต้องการการดูแลรักษาที่มีความพิถีพิถันลงรายยละเอียดมากขึ้น ทำให้ความสำคัญของหน่วยซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้นตามเทคโนโลยี

ในปัจจุบันการขาดแคลนแรงงานถือเป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่นวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นและเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วจำนวนแรงงานฝีมือที่มีไม่อาจรองรับต่อการใช้งานจริง และแรงงานฝีมือบางส่วนกลับขาดแคลนศักยภาพในการเรียนรู้หรือประยุกต์การใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกด้วย ทำให้พื้นที่สำหรับแรงงานที่มีความรู้ความสามารถด้าน Automation หรือเทคโนโลยียังขาดแคลนอยู่เป็นจำนวนมาก ยังไม่นับรวมแรงงานซ่อมบำรุงที่มีความต้องการมากกว่ากว่าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

 

จับ Automation ให้อยู่ก่อนกระโดดไป 4.0

เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ เทคโนโลยียุค 4.0 เป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจ ด้วยการผสานระบบเครือข่ายก่อให้เกิด IoT และ Big Data เมื่อนำมาใช้ร่วมกับเครื่องจักรต่างๆ เช่น CNC 3D Printing หรือ หุ่นยนต์ สมัยใหม่ที่มีความสามารถในการสื่อสารระหว่างเครื่องจักรเป็นพื้นฐานทำให้สามารถส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายทั่วโลก สามารถเฝ้าดูข้อมูล รายงานการทำงาน บริหารจัดการ หรือขอการสนับสนุนจากผู้ให้บริการได้แบบ Real-Time เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของการทำงานแบบก้าวกระโดดเนื่องจากสามารถควบคุมได้ทุกขั้นตอนรวมทั้งยังสามารถพยากรณ์เวลาซ่อมบำรุงล่วงหน้าได้อีกด้วย แต่ก่อนที่จะมาถึงเทคโนโลยี 4.0 เทคโนโลยีซึ่งถือเป็นรากฐานที่สำคัญต่อ 4.0 อย่าง Automation ที่จำเป็นต้องเริ่มต้นเป็นลำดับแรก

เทคโนโลยี Automation สามารถตอบสนองรูปแบบการผลิตได้อย่างหลากหลาย ทั้งยังสามารถลดเวลาและต้นทุนต่างๆ ในสายการผลิตได้เป็นอย่างดี ด้วยศักยภาพการทำงานที่แม่นยำ เที่ยงตรง ลดเวลาในการผลิต รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัยในกระบวนการทำงาน โดยการทำงานของ Automation นั้นเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ สามารถส่งผ่านข้อมูลให้แก่กันภายในโรงงานได้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สำหรับการต่อยอดไปยัง 4.0 เพียงแค่เสริมการสื่อสารกับ Server ภายนอกจะสามารถทำงานแบบ Real Time ผ่านระบบเครือข่ายได้ ดังนั้นการครอบครองและทำความเข้าใจให้ดีกับศักยภาพของ Automation จึงเป็นรากฐานสำคัญสำหับการก้าวไปในสนามของอุตสาหกรรม 4.0

การลงทุน Automation สามารถลงทุนในส่วนที่มีความสนใจหรือเป็นปัญหาอยู่ก่อน โดยสามารถประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยี IoT เฉพาะส่วนได้ เช่น การใช้เทคโนโลยี QC หรือ Measurement ที่สามารถเข้าถึงและตรวจสอบคุณภาพสินค้าจากนอกสถานที่ได้ อย่างน้อยการลงทุนกับความสามารถในการแสดงผลข้อมูลกิจกรรมในโรงงานหรือสายการผลิตแบบ Real Time สามารถช่วยลดการสูญเสียและวางแผนการซ่อมบำรุงล่วงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้ยังไม่มีการลงทุนในส่วนของหุ่นยนต์หรือสายพานลำเลียงอัจฉริยะก็ตาม

 

ทำไมอุตสาหกรรมไทยจึงควรผลักดันด้วยการลงทุนเทคโนโลยีการผลิต?

การลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตยุคใหม่ที่รองรับการทำงานแบบ 4.0 หรืออย่างน้อยรองรับการทำงานแบบ Automation นอกจากจะเป็นการเพิ่มความสะดวกสบายในการบริหารจัดการการผลิตแล้ว ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับตลาดอื่นๆ ในระดับสากลที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลิตภาพของงานอุตสาหกรรม จากปัญหาด้านแรงงานที่เกิดขึ้นในประเทศไทยปัจจุบัน เช่น ค่าใช้จ่ายด้านแรงงานที่สูงขึ้น การขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพ หรือแม้กระทั่งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ล้วนเป็นตัวผลักดันให้ผู้ประกอบการมีความจำเป็นในการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับรูปแบบอุตสาหกรรมของตัวเองมากขึ้น

ในขณะที่ประเทศไทยยังคงรักษาความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมในภูมิภาคได้ในปัจจุบัน ประเทศเพื่อนบ้านได้ลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งทำให้คู่แข่งใกล้ตัว เช่น ประเทศเวียดนาม สามารถดึงดูดนักลงทุนให้ย้ายการผลิตจากประเทศไทยได้ หรือการที่ประเทศจีนสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศสำหรับการผลิตจำนวนมากและสามารถต่อยอดการลงทุนศูนย์นวัตกรรมจากบริษัทต่างๆ ในพื้นที่ได้

เมื่อจุดแข็งของอุตสาหกรรมไทยไม่ใช่ราคาแรงงานอีกต่อไป ประสบการณ์ด้านอุตสาหกรรมที่ยาวนานทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมเรื่องบุคลากรฝีมือซึ่งมีราคาสูงมากกว่า รวมถึงความพร้อมด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานและตำแหน่งที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางทำให้ประเทศไทยยังคงเป็นที่น่าจับตามองสำหรับนักลงทุน การนำนวัตกรรมเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวและเลือกใช้แรงงานฝีมือที่เหมาะสมกับลักษณะงานสามารถสร้างพื้นที่ของอุตสาหกรรมไทยในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน เพราะอุตสาหกรรมในยุคปัจจุบันขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีการผลิตเป็นหลัก

5 เทคโนโลยี Smart Factory ต้องลงทุน

เทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการผลิตเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันบนเวที 5 เทคโนโลยีนี้มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายในระบบอุตสาหกรรมชั้นนำ ได้แก่

  1. Automation สนับสนุนกระบวนการผลิตอัจฉริยะ เพิ่ม Productivity ลดต้นทุนทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาในการผลิต
  2. Sustainable Energy การใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทางเลือกสามารถลดค่าใช้จ่ายพลังงานได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งสามารถลดของเสียที่เกิดขึ้นจากงานอุตสาหกรรมได้ด้วยเช่นกัน
  3. Smart Training การฝึกฝนแรงงานให้มีศักยภาพสามารถตอบสนองการทำงานภายใต้แนวคิด Smart Factory หรือ Automation ได้จำเป็นต้องมีความรู้ความสามารถในส่วนงานที่ทำโดยเฉพาะงานซ่อมบำรุงที่มีความะลเอียดและซับซ้อนมากขึ้น
  4. Smart Logistics นอกเหนือจากการผลิต ระบบขนส่งและคลังสินค้าสามารถปรับใช้งานร่วมกับ IoT เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย รวมถึงสร้างคยวามน่าเชื่อถือในการทำงานได้ด้วยการแสดงผลแบบ Real Time ทำให้การจัดส่งสินค้าเป็นเรื่องที่โปร่งใสไว้ใจได้
  5. ERP System หรือ Enterprise Resource Planning สามารถวัดและประเมินผลการทำงานขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพหากมีการใช้งานในสัดส่วนที่เหมาะสม ทำให้การแก้ไขและระบุปัญหาที่เกิดขึ้นในขั้นตอนกระบวนการทำงานที่มีมนุษย์เกี่ยวข้องเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

อ้างอิง:

MM Thailand

https://www.ft.com/content/e1def550-f600-11e7-8715-e94187b3017e

http://www.asse.org/practicespecialties/management/automation_human_intervention/

http://www.aia-india.org/CMS/downloads/Harish%20Chatterjee%20-%20Increasing%20productivity%20through%20automation.pdf

http://www.ejaet.com/PDF/3-2/EJAET-3-2-45-47.pdf